โพสเมื่อ : 17 เมษายน 2568
น้ำท่วมได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในจังหวัดปัตตานี 12 อำเภอ 111 ตำบล 597 หมู่บ้าน มีผู้ได้รับผลกระทบมากถึง 37,295 ครัวเรือน และมีรายงานผู้เสียชีวิต 2 ราย ขณะที่จังหวัดยะลา มีผู้ได้รับผลกระทบ 32,830 ครัวเรือนใน 8 อำเภอ และจังหวัดนราธิวาสมากถึง 66,374 ครัวเรือน ครอบคลุม 13 อำเภอ 553 หมู่บ้าน
บ้านเรือนหลายแห่งได้รับความเสียหายอย่างหนัก ถนนและเส้นทางจราจรถูกตัดขาดในหลายจุด บางพื้นที่ประสบปัญาดินสไลด์บนทางหลวง รวมถึงการขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มในระดับวิกฤต หนึ่งในปัญหาสำคัญคือ “การขาดระบบเตือนภัยที่ครอบคลุมและแม่นยำ” ทำให้ชุมชนไม่สามารถเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ได้อย่างทันท่วงที
องค์กรภาครัฐและภาคประชาสังคม ได้ลงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อทำอาหารกล่อง มอบเงินสนับสนุนแก่กลุ่มอาสาสมัครในพื้นที่ เช่น อ.มายอ จ.ปัตตานี, อ.บันนังสตา จ.ยะลา และ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส นอกจากนี้ยังมีการแจก “ถุงยังชีพ - ถุงกำลังใจ” จำนวน 120 ชุด มูลค่ารวมกว่า 113,000 บาท
ภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วม การฟื้นฟูยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีการแจกถุงยังชีพเพิ่มเติมอีก 330 ชุด งบประมาณกว่า 151,800 บาท ซึ่งรวมถึงของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ผงซักฟอก ผ้าอนามัย และอาหารแห้ง พร้อมส่งมอบข้าวสาร ยา เสื้อผ้า ผ่านเครือข่ายอาสาสมัครในพื้นที่
ในระหว่างการให้ความช่วยเหลือ ได้มีการเน้นย้ำมาตรการ PSHEA และ GENDER เพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ และให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างโปร่งใส โดยจัดช่องทางร้องเรียนที่ชัดเจน เช่น ผ่าน Facebook, LINE และเบอร์โทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่
องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หลายแห่งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนพื้นที่โรงครัว และยานพาหนะสำหรับเข้าช่วยเหลือ เช่น อบต.ลุโบ๊ะยิไร และ อบต.ตรัง จ.ปัตตานี, อบต.เขื่อนบางลาง จ.ยะลา และ อบต.ปะลุกาสาเมาะ จ.นราธิวาส
วิกฤตในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ ทั้งการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุ การให้ความช่วยเหลือที่รวดเร็วและทั่วถึง ตลอดจนการวางแผนฟื้นฟูหลังเกิดเหตุอย่างครอบคลุม ซึ่งล้วนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชนและอาสาสมัครในพื้นที่
ในช่วงที่น้ำท่วมหนักสร้างความทุกข์ยากให้กับชาวบ้านในภาคใต้ มูลนิธิรักษ์ไทยได้เริ่มต้นภารกิจที่เต็มไปด้วยความหมาย นั่นคือ กิจกรรม "ถุงกำลังใจ" ซึ่งเกิดจากความตั้งใจที่จะช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ
หลังจากที่น้ำท่วมได้ลดลง ผู้ประสบภัยในหมู่บ้านเล็กๆ ต่างต้องเผชิญกับความจริงกับสภาพบ้านที่เคยอบอุ่นและปลอดภัย กลับพังทะลายลงเพราะแรงพัดของน้ำ แต่เมื่อน้ำลดลงก็ถูกปกคลุมไปด้วยดินโคลน สิ่งของในบ้านล้วนเสียหาย บางส่วนถูกน้ำพัดพาไป เศษซากของความหวังและความทรงจำต่างถูกฝังอยู่ใต้ชั้นของดินโคลน