ฮักข้าว : ปรับวิธีปลูกข้าวเพื่อเพิ่มผลผลิต

     จากการสำรวจข้อมูลผลผลิตข้าวต่อไร่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อประมาณปี 2559 พบว่าจังหวัดอุบลราชธานี มีผลผลิตค่อนข้างต่ำโดยเฉลี่ย 250 กิโลกรัมต่อไร่ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ “ฮักข้าว” ที่เลือกพื้นที่ทำงานกับเกษตรกร 8 ชุมชน ใน 3 อำเภอของอุบลราชธานี ได้แก่ อำเภอเขื่องใน,  ตระการพืชผล  และม่วงสามสิบ ซึ่งเป็นพื้นที่ตอนบนของแม่น้ำมูน ที่มีความแห้งแล้ง

โครงการฮักข้าว "สาธิตนาหยอด"

    โครงการ “ฮักข้าว” ดำเนินการโดยมูลนิธิรักษ์ไทย โดยได้รับการสนับสนุนจาก “จอห์นเดียร์” บริษัทเอกชนด้านอุปกรณ์เกษตร และพัฒนาโครงการโดยเมอร์ซีคอร์ป องค์กรพัฒนาเอกชนจากสหรัฐอเมริกา 

    โจทย์ใหญ่ของโครงการคือต้องการเพิ่มศักยภาพเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จะแก้โจทย์นี้ได้ก็ต้องลงไปดูที่ต้นตอของปัญหา ซึ่งพบว่าการทำนาแบบเดิมนั้น มีทั้งการทำนาหว่าน และนาดำ มีต้นทุนค่อนข้างสูง แต่ชาวนาก็ยังคงทำสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน เพราะความเคยชิน และกลัวที่จะมองดูตัวเลขที่ลงทุนไป

     เสกสรร ชัญถาวร ผู้ประสานงานสนาม มูลนิธิรักษ์ไทย เล่าว่า ความท้าทายในการทำงานมีหลายเรื่อง นับตั้งแต่อายุของชาวนาที่เข้าร่วมโครงการ ส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยประมาณ 50 ปี เกินครึ่งทำนาในลักษณะของผู้จัดการนา คือโทรศัพท์สั่งให้คนไปเตรียมดิน หว่านข้าว ปลายปีขายข้าวได้เท่าไรก็หักลบกลบหนี้ไป พอไม่ได้ไปดูแปลงนาด้วยตัวเอง ความประณีตในการทำนาก็ลดลง ทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง 

       ความท้าทายข้อถัดมาจะเห็นว่าต้นทุนการผลิตต่อไร่สูงมาก คนจึงเลือกไปทำนาหว่าน ซึ่งทำในช่วงฤดูแล้ง มีการไถแปร ไถดะ ไถปั่น ใช้ข้าว 25 กิโลกรัมต่อไร่ นำพันธุ์ข้าวจากปีก่อนมาปลูก ไม่มีการคัดเมล็ดพันธุ์ 

     “ถามว่าทำไมต้องใช้ข้าวมากขนาดนั้น เขาบอกว่าทำเผื่อ เผื่อนก เผื่อแมว เผื่อหนู เผื่อสัตว์ที่จะมากิน ก็เลยใช้มากเกินไป เมื่อไม่จัดการข้าวก็มีข้าวปน ต้นข้าวจากนาหว่านจะขึ้นกันอย่างหนาแน่น ส่งผลให้เมล็ดข้าวลีบเล็ก โรคเยอะ ผลผลิตต่อไร่ต่ำ แล้วก็ทำมานาน จะให้เปลี่ยนพฤติกรรมก็ยาก” เสกสรร กล่าวและบอกด้วยว่า

     มิติบทบาทหญิงชายก็มีส่วนสำคัญในการที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะการเปลี่ยนวิธีการทำนาถือว่ามีความเสี่ยงสูงมาก เนื่องจากทำกันแค่ปีละครั้ง ชาวนาบางคนที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยน แต่พอกลับไปบ้านก็ทำไม่ได้ เพราะผู้ชายแต่งงานเข้าบ้านฝ่ายหญิง มีฐานะเป็นเขย หมายความว่าเจ้าของไร่นาตัวจริงคือพ่อตาแม่ยาย ที่ดินเป็นของครอบครัวฝ่ายหญิง ดังนั้นจึงต้องปรับปรุงให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมด้วย  และต้องทำอย่างไรให้สมาชิกในบ้านเห็นชอบด้วย

     ตลอดเวลา 3 ปีของการดำเนินโครงการระหว่างปี 2560-2562 กิจกรรมที่ทำมีหลากหลาย ตั้งแต่การพัฒนารูปแบบการปฏิบัติการปลูกข้าวที่ดี การส่งเสริมให้เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ในการจัดการแรงงานให้น้อยลง เรียนรู้เรื่องการวิเคราะห์กำไรขาดทุน  ตลอดจนการส่งเสริมชุมชนให้เกิดกลุ่มธุรกิจ

     ในด้านการพัฒนารูปแบบการปลูกข้าวที่ดีนั้น โครงการ “ฮักข้าว” ใช้การทำแปลงสาธิตในชุมชนเป็นเครื่องมือให้ผู้คนเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน โดยแต่ละชุมชนจะมีแปลงนาสาธิต 2-3 ราย เพราะทราบว่าชาวนาเคยผ่านการอบรมดูงานมามากแล้ว แต่ก็มักจะบอกว่าสิ่งที่ตนไปดูกับเงื่อนไขที่หมู่บ้านไม่เหมือนกัน

     “พื้นที่ใดเคยทำนาหว่าน เราก็เสนอให้เปลี่ยนมาเป็นทำนาหยอดโดยใช้เครื่องหยอดข้าว พื้นที่ไหนทำนาดำได้ ก็สนับสนุนให้ทำนากลีบเดียว  เดิมใช้ข้าว 3-5 ต้นต่อการปักดำ เราก็แนะนำให้ใช้ปักดำเพียงต้นเดียว เราลดการใช้นักวิชาการ แต่เชิญปราชญ์ชุมชนซึ่งเป็นชาวนาเหมือนกันมาเป็นวิทยากรแทน พอเป็นชาวนามาแลกเปลี่ยนกันเองมันลงลึกขค้น ต่อกันได้เกือบหมด ภาษาเดียวกัน หัวอกเดียวกัน เข้าถึงได้ง่ายมากกว่า” ผู้ประสานงานภาคสนามมูลนิธิรักษ์ไทยกล่าว

     การทำนาแบบเดิม เกษตรกรส่วนใหญ่มักจะใช้พื้นที่ให้มากที่สุด ด้วยคิดว่าปลูกข้าวมากต้นจะได้ข้าวเพิ่มขึ้น  แต่เมื่อพิจารณาตามหลักวิชาแล้ว ข้าวที่ขึ้นกันเบียดแน่น ส่งผลต่อผลผลิตที่ไม่สมบูรณ์ และโรคต่าง ๆ ตามมา 

     หลังจากอบรมและทำแปลงนาสาธิตแล้ว ทางโครงการฯ ได้แจกสมุดบันทึกเพื่อให้เกษตรกรจดบันทึกการดูแลแปลงนา จากนั้นจะมีการติดตามผล เชิญวิทยากรด้านโรคและแมลง มาให้ความรู้เป็นช่วง ๆ  

    ผ่านพ้นปีแรกไป ปรากฏว่าเกษตรกรเจ้าของนาหลายแปลงตกใจว่าไม่เคยได้ข้าวจำนวนมากขนาดนี้มาก่อน ในกรณีข้าวหอมมะลิ ได้ผลผลิต 800 กิโลกรัมต่อไร่ และสิ่งที่เขาไม่เคยทำคือการเว้นระยะห่างระหว่างต้นข้าว 40-50 เซนติเมตร ซึ่งมากเหลือเกิน ใจจะขาด...
 

     ปีถัดมาเป็นการศึกษาแลกเปลี่ยนเรื่องปุ๋ยต่าง ๆ และตรวจวิเคราะห์ดินร่วมกัน ให้ความรู้ว่าดินแต่ละแปลงมีความต่างกัน เพื่อจะได้ใช้ปุ๋ยให้ตรงกับลักษณะดินของตน ไม่ใช้แต่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 กับยูเรีย เหมือนอย่างที่เคยเป็นมา ดังนั้นถ้าผสมปุ๋ยใช้เองในสัดส่วนที่เหมาะสมก็จะประหยัดได้ด้วย

    ในด้านการส่งเสริมธุรกิจกลุ่มนั้น พบว่าจากการดำเนินงานในปีแรกที่พบปัญหาหยอดข้าวไม่ทัน ในปีที่สองและสามจึงปรึกษากันใน 8 ชุมชนว่าจำเป็นต้องซื้อเครื่องหยอดข้าว ปรากฏว่ามี 2 ชุมชนมีโครงสร้างน่าสนใจและใจสู้ พร้อมลงทุน  ทางโครงการจึงจะสนับสนุนเงินครึ่งหนึ่งเพื่อซื้อเครื่องหยอดข้าว แต่ในที่สุดแล้วทางจอห์นเดียร์ได้ให้ยืมรถแทรกเตอร์หยอดข้าว 2 คัน ในชุมชนบ้านนาโพ ต.ค้อทอง อ.เขื่องใน  กับบ้านนาขาม ต.นาขาม อ.ม่วงสามสิบ เพื่อมาใช้งาน
 

       จนถึงปัจจุบันแม้โครงการจบลงแล้วแต่ได้เกิดกลุ่มธุรกิจหยอดข้าวในชุมชนตัวเอง และรับหยอดข้าวในชุมชนอื่นด้วย  ผลพลอยได้ยังพบว่าเกษตรกรสามารถเป็นวิทยากรในเรื่องการหยอดข้าวและมีความเข้าใจเรื่องดิน ช่วยเผยแพร่ความรู้ออกไปยังชุมชนอื่นต่อไปอีกทอดหนึ่ง

      ส่วนเจ้าของแปลงนาสาธิตก็สามารถเป็นวิทยากรชุมชนในอนาคต เพื่อเป็นต้นแบบ ขยายผล ตลอดจนพัฒนาจุดเรียนรู้ และให้มีสื่อการทำนาหยอดและนากลีบเดียว สำหรับผู้สนใจเปลี่ยนแปลงวิธีทำนาในวันข้างหน้า

       การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้นี้ เป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันของหลายฝ่าย ทั้งจากองค์กรพัฒนาเอกชนอย่าง “มูลนิธิรักษ์ไทย” ที่เข้าไปกระตุ้นและส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมกับเกษตรกร และต้องใช้เวลานานนับปีกว่าจะเห็นผลเป็นที่น่าพอใจและยั่งยืน
 

โครงการอื่นๆ

She made it ผู้หญิงพลิกฟื้นเศรษฐกิจในครอบครัวและชุมชน

She made it ผู้หญิงพลิกฟื้นเศรษฐกิจในครอบครัวและชุมชน

ดึงศักยภาพและความสนใจเพื่อนำมาประกอบเป็นวิชาชีพเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับผู้หญิงที่ถูกตีกรอบด้วยความเชื่อและทัศนคติทางวัฒนธรรม เช่น กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวที่สูญเสียสามีที่เป็นผู้นำครอบครัวไปกับความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้หรือกลุ่มชาติพันธุ์

เสริมสร้างพลังอำนาจหญิงน่าน

เสริมสร้างพลังอำนาจหญิงน่าน

แม้ภาครัฐจะกำหนดให้เด็กไทยได้รับการศึกษาภาคบังคับเป็นเวลา 9 ปี และโดยภาพรวมแล้วเด็กในเมืองใหญ่ก็ได้รับการศึกษาตามนั้น แต่ในความเป็นจริงคือยังมีเยาวชนหญิงจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับการศึกษาตามที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนหญิงในจังหวัดน่าน ซึ่งมีอยู่หลากหลายชาติพันธุ์ที่ไม่รู้หนังสือ หรือมีความรู้ไม่เพียงพอต่อทักษะการดำรงชีวิต

สิทธิและโอกาสของแรงงานข้ามชาติสตรี

สิทธิและโอกาสของแรงงานข้ามชาติสตรี

ถ้ามีคนถามคุณว่า “แรงงานข้ามชาติ” หน้าตาเป็นอย่างไร เชื่อว่าภาพแรกที่คนมักจะนึกถึงคือภาพของชายรูปร่างหน้าตากำยำล่ำสัน ทำงานใช้แรงงานอย่างโชกโชน

We Sparkle

We Sparkle

“ความไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ” ความข้อนี้ใคร ๆ ก็รู้ แต่จะให้ทำได้จริงนั้นอาจยากนัก ยิ่งคนในวัยแรงงานโดยเฉพาะแรงงานหญิงยิ่งมีภาระหนี้สินที่ต้องรับผิดชอบครอบครัวและดูแลผู้มีพระคุณ ยิ่งทำให้ชีวิตปลอดพ้นจากการเป็นหนี้ได้ไม่ง่ายนัก