ป้องกันโควิด19 ในชุมชนประมง

   ช่วงเดือนธันวาคม 2563 ที่เกิดการระบาดของโควิด 19 ระลอกสองที่มหาชัย จนเป็นข่าวครึกโครมและส่งผลกระทบต่อชีวิตและเศรษฐกิจของชาวไทยและแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดสมุทรสาครนั้น มูลนิธิรักษ์ไทยมีส่วนสำคัญในการทำงานช่วยเหลือเบื้องหลังอย่างทันท่วงที

      ความช่วยเหลือที่ว่านี้มีทั้งการแจกหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ถุงยังชีพ และมอบเงินสดต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นกำลังหลักของอุตสาหกรรมประมงในประเทศไทย

     การทำงานอย่างทันท่วงทีนั้นเกิดขึ้นได้ เพราะมูลนิธิรักษ์ไทยกำลังดำเนินโครงการมาร์สสู่ชุมชนประมง ที่ได้รับความสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท มาร์ส ผู้ผลิตช็อคโกแลตชื่อดัง และอาหารสัตว์เลี้ยง ระหว่างวันที่ 20 เมษายน 2563 – 31 ตุลาคม 2564  ซึ่งมีเป้าหมายโครงการเพื่อบรรเทาผลกระทบโควิด19 ในกลุ่มแรงงานอุตสาหกรรมอาหารทะเล ชุมชนและครอบครัว (ไทย, กัมพูชา, เมียนมา) สนับสนุนความเป็นอยู่และฟื้นฟูกลุ่มเปราะบาง

     วัตถุประสงค์หลักของโครงการมาร์สสู่ชุมชนประมง มุ่งเน้นไปที่การป้องกันและลดผลกระทบโควิด 19 ในอุตสาหกรรมอาหารทะเล อุตสาหกรรมต่อเนื่องและชุมชนประมง พร้อมทั้งศึกษาพัฒนากลไกให้ชุมชนจัดการภัยพิบัติได้อย่างยั่งยืน และขับเคลื่อนเชิงนโยบาย

        จากการลงชุมชนเพื่อช่วยเหลือแรงงานต่างชาติในมหาชัยในช่วงโควิด 19 ระบาดรอบสองนั้น พบผู้ที่มารับความช่วยเหลือประสบปัญหาหลากหลาย เช่น ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน ความเจ็บป่วยจากโรคภัย และในกรณีแรงงานหญิงที่ตั้งครรภ์ ไม่มีบัตรสุขภาพ เมื่อถึงกำหนดคลอดไม่สามารถเข้าไปคลอดในโรงพยาบาลได้ บางรายต้องใช้บริการหมอตำแย เพราะไม่ได้ฝากท้องกับแพทย์แผนปัจจุบัน  บางรายคลอดลูกแฝดสามแต่ยังส่งเงินประกันสังคมไม่ครบกำหนด การที่ได้รับความช่วยเหลือเป็นเงินสดจากโครงการฯ นับว่าช่วยแบ่งเบาภาระได้มาก

     ในช่วงเดียวกันนั้น นอกจากการบรรเทาทุกข์ด้วยการแจกสิ่งของที่จำเป็นแล้ว รักษ์ไทยยังได้เข้าไปร่วมทำงานในส่วนของล่ามแปลภาษาในบริเวณจุดคัดกรอง และประสานงานระหว่างแรงงานข้ามชาติกับเจ้าหน้าที่ทางการที่ลงพื้นที่ตลอดจนถึงบุคลากรทางสาธารณสุขที่ลงไปปฏิบัติงาน เพื่อให้การทำงานช่วยเหลือเป็นไปอย่างราบรื่น  รวมถึงจัดทำสื่อป้องกันโควิด 19 เป็นภาษาเมียนมาอีกด้วย

     สำหรับโครงการมาร์สสู่ชุมชนประมง เป็นโครงการที่มีระยะเวลาดำเนินงาน 18 เดือน มีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่คนงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเล และชุมชนประมง ในจังหวัดสมุทรสาคร, ตราด, ระยอง, สงขลา, ปัตตานี, นราธิวาส, ภูเก็ต, พังงา, สตูล, ประจวบคีรีขันธ์ และระนอง มีหุ้นส่วนสำคัญในการทำงาน คือ องค์กรพัฒนาเอกชน, องค์กรชุมชน, หน่วยงานรัฐในแต่ละจังหวัด, องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น, กระทรวงสาธารณสุข , พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และภาคเอกชน

     กิจกรรมในโครงการ เน้นการทำงานกับชุมชนแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลและครอบครัว ใน 11 จังหวัด ให้รับทราบข้อมูลและนำแนวทางการลดการติดต่อโควิด 19 ไปปฏิบัติและเพิ่มการเข้าถึงทรัพยากรสนับสนุน  มีการพัฒนาช่องทางการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียที่มีความระวังไหวในเรื่องเพศ

    นอกจากนี้ยังจะปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่และช่วยให้เกิดการฟื้นตัวของชุมชนประมง ผ่านหลายกิจกรรมเช่น ฝึกอบรมการทำงานที่ปลอดภัยผ่านมุมมองโควิด 19  การเสริมพลังในวิถีชีวิตแก่ผู้นำหญิง การให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิแรงงานอพยพและการหาความช่วยเหลือระหว่างวิกฤต  ฝึกผู้ประสานงานชุมชนใน 11 จังหวัดผ่านห้องเรียนอินเตอร์เน็ต ในหัวข้อความรู้พื้นฐาน กลไกสนับสนุนทางกฎหมายและช่องทางการปรึกษา  

     พร้อมทั้งยังติดตามและให้ความสนับสนุนผู้นำชุมชนหญิง 500 คนผ่านแพลทฟอร์มดิจิตอล และกลุ่มย่อย เพื่อเป็นกลุ่มที่ให้คำปรึกษาและการให้คำแนะนำทางกฎหมายไปยังกลุ่มเพื่อนของพวกเธออีก 5,000 คน 

โครงการอื่นๆ

การแก้ปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเชียงใหม่

การแก้ปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเชียงใหม่

สถานการณ์การคลอดบุตรในกลุ่มวัยรุ่นไทย นับว่าอยู่ในระดับค่อนข้างสูง คือ 44.8 คนต่อวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ขณะที่สถิติในแถบทวีปเอเชียแปซิฟิคอยู่ที่ 35 ต่อ 1,000 คน (ข้อมูลสถานการณ์อนามัยการเจริญพันธุ์ในวัยรุ่นและเยาวชน ปี 2558 โดยสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข)

ปัญหาการท้องในสถานประกอบการ

ปัญหาการท้องในสถานประกอบการ

“ลำพูน” เป็นจังหวัดเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในภาคเหนือ ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมลำพูนตั้งอยู่ ส่งผลให้มีประชากรวัยแรงงานชายหญิงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงอายุ 15-20 ปี ที่ส่วนใหญ่ย้ายมาจากอำเภอรอบนอกหรือจังหวัดใกล้เคียง ประมาณ 80,000 คน ใน 65 สถานประกอบการ