ส่งเสริมความรู้อนามัยเจริญพันธุ์ในนักศึกษา กศน.

     มูลนิธิรักษ์ไทย จังหวัดอุดรธานี เห็นความสำคัญว่ากลุ่มนักศึกษาการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เป็นกลุ่มที่มีอัตราเสี่ยงสูงในการท้องไม่พร้อม เนื่องจากเป็นเด็กที่ไม่ได้อยู่ในการศึกษาในระบบโรงเรียน และเข้าไม่ถึงบริการ ความรู้ด้านอนามัยเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 12-19 ปี ที่จากการสำรวจพบว่ามักจะขาดความรู้ด้านอนามัยเจริญพันธุ์ นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มเด็กเหล่านี้มาจากครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้าง

      ธนพงษ์ สุระคาย ผู้ประสานงานภาคสนาม มูลนิธิรักษ์ไทย จ.อุดรธานี โครงการส่งเสริมความรู้อนามัยเจริญพันธ์และป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมของนักศึกษากศน. บอกว่าโครงการดำเนินงานกับกลุ่มนักศึกษาการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) อายุ 12-24 ปี ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดอุดรธานี ในปี 2563 ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 

   การจัดกิจกรรมของโครงการส่งเสริมความรู้อนามัยเจริญพันธ์และตั้งกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในนักเรียน กศน. เป็นการทำกิจกรรมกลุ่มย่อยผ่านเครือข่ายแกนนำ โดยได้รับความร่วมมือจากครูกศน.และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 

     กิจกรรมที่ทำเน้นการมีส่วนร่วมของเด็ก เน้นการพูดคุยซักถามแบบโฟกัสกรุ๊ป เป็นกลุ่มสนทนาเล็ก ๆ มากกว่าที่จะเน้นการบรรยาย หลังจากพูดคุยสนทนาแล้วจะมีการประเมินความรู้ความเข้าใจของเด็ก

     นอกจากนี้ยังมีการตั้งกลุ่มสื่อสารทางแอพพลิเคชั่นไลน์ แยกเป็นพื้นที่ตามตำบล ในการให้ความรู้และคำแนะนำเพื่อให้เด็กเข้าถึงบริการ กลุ่มไลน์นี้ยังเป็นการให้คำปรึกษาส่วนตัวได้ด้วย โดยเฉพาะเด็กบางคนตั้งครรภ์ แต่ไม่รู้จะดูแลตัวเองอย่างไร ประสบความยากลำบากในการดำเนินชีวิต  หากญาติหรือครอบครัวเข้าใจก็เป็นเรื่องดี แต่ถ้าไม่เข้าใจ คุณแม่วัยรุ่นเหล่านี้จะโดดเดี่ยวและไร้ที่พึ่งอย่างยิ่ง

     ครู กศน.ที่อยู่ในชุมชน มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเด็กเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญในการทำงานที่ช่วยให้ทางโครงการฯ เข้าหาเด็กได้สะดวกขึ้น สิ่งสำคัญในการทำงานคือช่องทางการสื่อสาร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าหน้าที่รักษ์ไทยต้องปรับตัวปรับเวลาโดยเอาเวลาของเด็กเป็นที่ตั้ง  บ่อยครั้งที่เด็ก ๆ สะดวกที่จะคุยปรึกษาตอนเย็นตอนค่ำหลังเลิกงาน คนทำงานก็ต้องพร้อม

   โครงการส่งเสริมความรู้อนามัยเจริญพันธ์และการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมของนักศึกษา กศน. ทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลและเชื่อมต่อการบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์  เข้าไปเชื่อมโยงให้นักศึกษา กศน.ได้รับรู้แหล่งบริการทางด้านสาธารณสุข และให้เข้าไปใช้สิทธิในคลินิกวัยรุ่น/คลินิกตั้งครรภ์ไม่พร้อมในโรงพยาบาลของรัฐ ตลอดจนการเข้าถึงชุดตรวจการตั้งครรภ์และอุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ 

        หลังจากจบโครงการแล้ว จากการประเมินโครงการพบว่ากลุ่มเด็กนักเรียนกศน.มีความเปลี่ยนแปลงในทัศนคติและพฤติกรรม โดยพบว่าร้อยละ 70 มีทัศนคติที่ดีขึ้นต่อการตั้งครรภ์ไม่พร้อม 

     ธนะพงษ์ กล่าวถึงทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงของเด็กว่า พวกเขาพร้อมยื่นมือเข้าช่วยเหลือเพื่อนหากเพื่อนตั้งครรภ์ไม่พร้อม และเข้าใจว่าแต่ละคนมีเหตุผล มีปัญหาของตนเอง ไม่ใช่ว่าคนที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมจะเป็นคนไม่ดี  ส่วนพฤติกรรมของนักเรียนชายและหญิงก็เปลี่ยนไป คือรู้ว่าต้องมีอุปกรณ์ป้องกันในการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ในกรณีของฝ่ายชาย เมื่อเขารับทราบถึงเรื่องสุขภาวะทางเพศที่ปลอดภัยแล้ว เขาก็จะช่วยประคับประคองรับผิดชอบในความสัมพันธ์กับฝ่ายหญิงด้วย

     สังคมทั่วไปมักจะมองว่า เด็กกศน.โดยเฉพาะเด็กชายบางกลุ่มเป็นพวก “ขาโจ๋” “เด็กแว้น” รู้สึกไม่เป็นมิตร แต่เมื่อได้ลงไปทำงานโครงการนี้ ธนะพงษ์ กลับเห็นว่าความจริงแล้วพวกเขายังมีความบริสุทธิ์เช่นเดียวกับเด็กทั่วไป และยังพบว่าเป็นกลุ่มเด็กที่แบกรับปัญหาของครอบครัวและต้องพึ่งตนเองอย่างมาก  ขัดแย้งกับภาพที่คนอื่นมักจะมองว่าสร้างปัญหา  

      แม้โครงการนี้จะหมดระยะเวลาการดำเนินงานไปแล้ว แต่ถ้าหากเป็นไปได้และมีแหล่งทุนสนับสนุน แน่นอนว่าโครงการที่มีประโยชน์ต่อกลุ่มเด็กกศน.เหล่านี้จะต้องกลับมาอีกแน่นอน

โครงการอื่นๆ

สร้างอนาคตเด็กไทย: ก้าวไปด้วยกันกับมูลนิธิรักษ์ไทย

สร้างอนาคตเด็กไทย: ก้าวไปด้วยกันกับมูลนิธิรักษ์ไทย

“เพราะเด็ก คือ คนที่จะขับเคลื่อนสังคมต่อไป” มูลนิธิรักษ์ไทย มุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพเด็ก ให้มีความรู้ ทักษะ และเสริมสร้างภาวะผู้นำ เราจะสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน และ สร้างอนาคตที่ดีของสังคมต่อไป

Migtant Children Development

Migtant Children Development

เด็ก ๆ มีสิทธิที่จะได้รับการพัฒนา อันเป็นสิทธิพื้นฐานของเด็กทุกคนเมื่อเกิดมา ไม่ว่าจะเป็นเด็กเชื้อชาติ สัญชาติไหนหรืออาศัยอยู่ที่แห่งใดบนโลกใบนี้ ไม่เว้นแม้แต่เด็ก ๆ ลูกแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย พวกเขา/เธอก็มีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาเช่นเดียวกัน แต่การเข้าถึงการศึกษาของเด็กกลุ่มนี้

ศูนย์การเรียนรู้ลูกแรงงานข้ามชาติ จ.สมุทรสาคร

ศูนย์การเรียนรู้ลูกแรงงานข้ามชาติ จ.สมุทรสาคร

ช่วงเวลาเกือบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการของระบบเศรษฐกิจไทย เป็นจำนวนมาก มูลนิธิรักษ์ไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะต้องให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ให้ตระหนักถึงสิทธิของตน โดยได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ ผ่านหลากหลายโครงการ

ยุติการรังแกในโรงเรียนและโซเชียลมีเดีย

ยุติการรังแกในโรงเรียนและโซเชียลมีเดีย

“บูลลี่” (bully) คำศัพท์ภาษาฝรั่งที่คนไทยเริ่มใช้ทับศัพท์กันในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยเฉพาะทางสื่อสังคมออนไลน์ “โซเชียลมีเดีย” มีการพูดถึง “ไซเบอร์บูลลี” หรือการรังแกกันผ่านทางโซเชียลมีเดีย กันมากขึ้น แต่การรังแกทางกายภาพ ต่อหน้าต่อตานั้น ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่น้อยไปกว่ากัน