Publication Date : June 26, 2015
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา นายพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย, นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) และคุณ “แต้ว” ณฐพร เตมีรักษ์ นักแสดงชื่อดัง ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการกล้าทำดี โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งปรับพฤติกรรมการกลั่นแกล้งรังแกของเด็กในวัยเรียนให้แปรเปลี่ยนเป็นพลังจิตอาสากล้าเป็นฮีโร่
นายพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวถึงตัวโครงการกล้าทำดีว่า “โครงการกล้าทำดี ยุติการรังแกในโรงเรียน เป็นโครงการทางด้านการศึกษาที่ต่อยอดมาจากโครงการ 84 โรงเรียนทำดีถวายในหลวง เนื่องจากรักษ์ไทยได้เจอประเด็นปัญหาเรื่องการรังแกกันของเด็ก ๆ ในโรงเรียนต่าง ๆ จึงได้พัฒนาจนมาเป็นโครงการกล้าทำดี ในส่วนความหมายของการรังแกก็คือ การทำร้ายกันทางกาย วาจา ใจ และทำซ้ำ ๆ กับคนที่เป็นเหยื่อ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับทักษะชีวิตของเด็ก ๆ ปัญหาการรังแกกันมีผลกระทบเชิงลึกกับเด็ก และยังไปลดศักยภาพในตัวเด็กอีกด้วย ดังนั้น เป้าหมายของตัวโครงการกล้าทำดีจะเน้นไปในเรื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กแต่ละกลุ่ม เพื่อลดอัตราการรังแกและยุติความรุนแรงในโรงเรียน ทำให้เด็กที่ถูกรังแกสามารถปกป้องตัวเองได้ ปรับเปลี่ยนเด็กที่รังแกผู้อื่นให้เลิกพฤติกรรมการรังแก และเห็นคุณค่าของตัวเองและผู้อื่น เข้าใจสิทธิและความเท่าเทียมกัน ที่สำคัญจำเป็นต้องปรับทัศนคติของเด็กกลุ่มนี้ให้อยู่ร่วมกันได้ โดยที่ไม่ไปกีดกันเด็กอื่น เด็กอีกกลุ่มที่ทางโครงการฯ ให้ความสนใจคือกลุ่มกองเชียร์ จุดมุ่งหมายในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กกลุ่มนี้คือ ให้เด็ก ๆ เปลี่ยนจากการเป็นกองเชียร์และเอาแต่ดู ให้เป็นคนที่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ ไม่เพิกเฉย มีความรับผิดชอบเรื่องการรังแก มีภาวะผู้นำและมีจิตสาธารณะ เพราะการรังแกเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มศักยภาพของเด็ก และปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมา” นายพร้อมบุญกล่าว
“พฤติกรรมการรังแกกันของทุกภูมิภาค จะอยู่ในรูปของการทำร้ายด้วยวาจามากที่สุด เช่น ล้อเลียนให้อับอาย แสดงความเหยียดหยาม ดูถูกเชื้อชาติหรือผิวพรรณ ยกเว้นในภาคตะวันออก รองลงมาคือ การรังแกด้วยการแย่งเงินและของใช้ รวมทั้งการข่มขู่บังคับ ซึ่งนักเรียนชายจะมีพฤติกรรมการรังแกใน 2 เรื่องนี้มากกว่านักเรียนหญิง” เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าว
พื้นที่ในการปฏิบัติงานโครงการกล้าทำดี จะมีโรงเรียนทั้งหมด 61 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ จากทุกภาคของประเทศ ซึ่งครอบคลุมทั้งหมด 9 จังหวัด โรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนไม่เกิน 60-100 คน ตั้งอยู่ในชุมชนที่มีความยากจนทุรกันดาร เช่น โรงเรียนบนพื้นที่ป่าต้นน้ำทางภาคเหนือ โรงเรียน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และโรงเรียนบริเวณตะเข็บชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายในปี 2560 คาดว่าจะมีเด็กเข้าร่วมโครงการฯ เป็นจำนวนถึง 1,860 คน
“มูลนิธิรักษ์ไทย ต้องขอขอบคุณ TTA ที่เล็งเห็นถึงปัญหาในเรื่องการรังแกกันเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข และปลูกฝัง ความคิดดี ๆ และความเป็นจิตอาสาให้กับเด็ก ๆ ตั้งแต่ในช่วงอายุนี้ จึงได้ให้การสนับสนุนโครงการกล้าทำดีให้ดำเนินการได้ นอกจากนั้นยังใส่ใจให้ผู้ใหญ่ใจดีมาร่วมทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ ในอนาคตทาง TTA ก็ยังมีแผนที่จะช่วยอบรมความรู้ที่ทางบริษัทมีความชำนาญให้เป็นวิทยาทานแก่เด็ก ๆ อีกด้วย สำหรับพวกเรารู้สึกขอบคุณแทนเด็ก ๆ ด้วยครับ การให้คือการสื่อสารที่ดีที่สุดครับ” นายพร้อมบุญกล่าว พร้อมกันนี้ โครงการกล้าทำดี ยุติการรังแกและความรุนแรงในโรงเรียน ยังได้รับเกียรติจากศิลปินนักแสดงที่มีชื่อเสียงอย่าง “แต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์” มารับหน้าที่ทูตโครงการกล้าทำดี (Angel) อีกด้วย ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นให้เด็ก ๆ สนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น และเชื่อมั่นว่าประสบการณ์จากทั้งบทบาทการแสดงและจากชีวิตจริงของนักแสดงสาวมากความสามารถคนนี้ จะมีส่วนช่วยและมีประโยชน์ต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็ก ๆ ทุกกลุ่มได้มากยิ่งขึ้น
ด้านนายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TTA กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการกล้าทำดี ยุติการรังแกและความรุนแรงในโรงเรียนของมูลนิธิรักษ์ไทย ภายใต้การสนับสนุนของ TTA มีจุดมุ่งหมายในการสร้างความสำเร็จอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของการมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การมุ่งปรับพฤติกรรมของเด็ก ทั้งที่ถูกรังแกหรือไปรังแกคนอื่น ตลอดจนเด็กที่สนับสนุนหรือเพิกเฉยเมื่อเห็นการรังแกกัน การสร้างบรรยากาศในโรงเรียนที่เป็นมิตรแก่เด็กทุกคน และปลอดการรังแก เราวางความไว้วางใจให้กับมูลนิธิรักษ์ไทย เพราะเชื่อมั่นว่ามูลนิธิมีประสบการณ์ รู้จริงในเรื่องที่ทำ และมีความสามารถที่จะดึงภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมโครงการฯ ได้ โดยที่ TTA จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับทางมูลนิธิฯ เมื่อเวลาและโอกาสอำนวย ซึ่งเชื่อมั่นว่าพนักงานของ TTA จะมีโอกาสได้เรียนรู้การทำงานที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคมกับมูลนิธิรักษ์ไทย และก้าวไปสู่ความสำเร็จในการทำโครงการฯ นี้ร่วมกัน
© Copyright 2020 by Raks Thai Foundation.